การใส่ปุ๋ยลิ้นจี่
พันธุ์ ลิ้นจี่ในประเทศไทยมีมากมายหลายพันธุ์ สำหรับชื่อพันธุ์นั้นมักเรียกตามสภาพท้องถิ่นทางภาคเหนือมีพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน 3 พันธุ์คือ พันธุ์ฮงฮวย โอวเฮียะ และกิมเจ็ง ส่วนทางภาคกลางมีพันธุ์ที่นิยมมากคือ พันธุ์ค่อมหรือหอมลำเจียก กะโหลกใบยาว สาแหรกทอง พันธุ์แห้ว สำเภาแก้ว กะโหลกในเตา ฯลฯ ซึ่งพันธุ์ดังกล่าวนี้จะมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง เช่น การนำเอาพันธุ์ที่ปลูกได้ดีทางภาคเหนือมาปลูกทางภาคกลางจะไม่ออกดอกติดผลเหมือนกับปลูกในทางภาคเหนือ เป็นต้น
การเตรียมดิน ดินที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของลิ้นจี่ ควรเป็นดินที่มีหน้าดินลึก มีอินทรียวัตถุมาก ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ถึงเป็นกลาง คือ มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ระหว่าง 5-6 และต้องมีการระบายน้ำ ดีและควรมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 400 เมตร
การปลูก ระยะปลูก 8 x 8 เมตร (ระยะระหว่างต้น x ระยะระหว่างแถว ) ปลูกได้ 25 ต้น/ไร่ หรือ 10 x 10 เมตร ปลูกได้ 16 ต้น/ไร่
การให้น้ำ การให้น้ำแก่ลิ้นจี่ช่วงต้นเล็กในระยะ 1 -2 ปีแรก การให้น้ำแก่ต้นลิ้นจี่ปลูกใหม่ในระยะ 2 ปีแรก โดยทั่วไปแล้วปริมาณน้ำที่ต้องรดให้แก่ต้นไม้ที่ปลูก ในปีแรกและปีที่ 2 ประมาณ 20 - 60 ลิตร ต่อระยะ 4-5 วัน (รดให้ดินเปียกน้ำกว้าง 0.5 และ 1.0 เมตร)
การใส่ปุ๋ย แบ่งเป็น 3 ระยะ และอัตรา 0.5-1 กก./ต้น/ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพดินและอายุของต้นลิ้นจี่
ระยะที่ 1 หลังการเก็บเกี่ยวผล ต้องตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยในเดือนพฤษภาคมเพื่อ บำรุงต้นให้เจริญเติบโต และสมบูรณ์ ปุ๋ยเคมีที่ใช้คือสูตร 15-15-15
ระยะที่ 2 เพื่อเตรียมต้นลิ้นจี่ให้พร้อมที่จะ ออกดอกในฤดูกาล การให้ปุ๋ยควรอยู่ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24
ระยะที่ 3 การให้ปุ๋ยในระยะติดผล ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 - 3 กก./ต้น เพื่อผลผลิตมีคุณภาพดี โดยแบ่งใส่ 3 ครั้งคือ ติดผลโต ขนาด 5 มม. ผลโตปานกลาง และผลโตเต็มที่
การเก็บเกี่ยว การเก็บผลผลิต ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่แสงแดดไม่จัด โดยใช้ พะองหรือบันไดพาดกิ่งแล้วปีนขึ้นไป ใช้กรรไกรตัดช่อผลลิ้นจี่ พร้อมทั้งถุงที่ห่อ ไม่ควรใช้มือหักเพราะจะทำให้เกิดแผลช้ำหรือรอยฉีกขาดในกิ่ง มีผลต่อการแตก ใบอ่อนในปีต่อไปต่อไป แล้วใส่เข่ง เมื่อเต็มเข่งก็จะโรยเชือกลงมาให้คนข้างล่างขนย้าย ไปคัดขนาดและบรรจุหีบห่อต่อไป การเก็บเกี่ยวควรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่พอเหมาะ ประมาณ 2 - 3 วัน/ครั้ง อย่าให้ผลแก่จัดเกินไป เพราะจะทำให้คุณภาพต่ำ
โรค โรคใบจุดสนิม อาการ เกิดบนใบแก่ลิ้นจี่ แผลเริ่มแรกเป็นจุดคุยสีเทาอมเขียว ฟูเล็กน้อย เกิดกระจัดกระจายบนใบ ต่อมาจุดจะขยายออกและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้ม หรือสีสนิมลักษณะค่อนข้างกลมขนาด 3 - 5 มม. ต่อมาจุดจะแห้งและทำให้ เนื้อเยื่อใบทั้งด้านบนและใต้ใบ บริเวณแผลมีลักษณะสีน้ำตาลดำ ในที่สุดใบที่เป็นโรค จะมีสีซีดเหลืองปนน้ำตาลและใบร่วง
แมลง หนอนเจาะขั้วผลลิ้นจี่ เป็นแมลงศัตรูอันดับหนึ่งที่ทำลายผลผลิตของลิ้นจี่ หนอนชนิดนี้มีขนาดลําตัว ยาว 1 ซม. ตัวขาวนวล ในระยะผลอ่อนหนอนเจาะกินที่เนื้อและเมล็ดทําให้ผลอ่อนร่วง เมื่อผลโตหนอนจะกัดกินที่บริเวณขั้วผล ทําให้ผลร่วง